ขั้นตอนการดำเนินการศึกษา

1. การคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ

การคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาของโครงการ มีองค์ประกอบในการศึกษา ได้แก่ การคัดเลือกรูปตัดทางที่เหมาะสม รวมทั้งการคัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับ ซึ่งในขั้นตอนการศึกษาคัดเลือกรูปแบบการพัฒนา จะเริ่มต้นจากการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษากำหนดรูปแบบทางเลือก ที่ได้แก่ การเตรียมแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ/ดาวเทียมครอบคลุมบริเวณพื้นที่โครงการ ข้อมูลโครงข่ายการจราจรขนส่งทั้งในปัจจุบันและแผนงานในอนาคตของหน่วยงานต่างๆบริเวณพื้นที่โครงการ ข้อมูลการสำรวจความเสียหายของถนนและสะพานเดิม นอกจากนั้นจะทำการสำรวจภาคสนามในเบื้องต้นเพื่อกำหนดอุปสรรคสิ่งกีดขวางที่เป็นจุดควบคุมต่างๆ เช่น ชุมชนหนาแน่น สถานที่ราชการ วัด โรงเรียน แม่น้ำ ลำคลองและพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมลงบนภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งจะนำมาเป็นแผนที่ฐาน (Base Map) เพื่อใช้ในการกำหนดทางเลือก (Alternative) ที่มีความเป็นไปได้ด้านวิศวกรรม สอดคล้องกับนโยบายของกรมทางหลวง/กระทรวงคมนาคม ค่าก่อสร้างไม่สูงมาก และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ จากนั้นเปรียบเทียบทางเลือกโดยเกณฑ์การคัดเลือกซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านวิศวกรรม/จราจร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และปัจจัยด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ปัจจัยย่อยมาจากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)) โดยในขั้นตอนการศึกษาทางเลือก ที่ปรึกษาจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชน มาใช้ร่วมประกอบการพิจารณากำหนดทางเลือกและเกณฑ์การคัดเลือกด้วย โดยขั้นตอนการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการดังแสดงใน
รูปที่ 2

รูปที่ 2 ขั้นตอนการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ

2. การศึกษาวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐกิจ

การวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐกิจ (Economic Analysis) เป็นขั้นตอนตรวจสอบความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจจะคล้ายคลึงกับการวิเคราะห์ด้านการเงินในแง่ของการประเมินผลประโยชน์จากการลงทุน แต่การวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจเป็นการประเมินผลประโยชน์ของโครงการที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจเป็นการประเมินผลกระทบทั้งหมดของโครงการที่มีต่อสวัสดิการของประชาชนทุกคนในสังคม

ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ ทำให้สามารถประเมินได้ว่าโครงการหนึ่งๆ มีความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจหรือไม่ โดยถ้าโครงการดังกล่าวให้ผลประโยชน์ตอบแทนต่อสังคมส่วนรวมมากกว่าทรัพยากรหรือต้นทุนที่สังคมต้องสูญเสียไป
จะถือว่าโครงการดังกล่าวมีความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจจะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจว่า ควรจะดำเนินการโครงการต่อไปหรือไม่อย่างไร รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการพิจารณาให้การส่งเสริมหรือสนับสนุนโครงการใดโครงการหนึ่ง หรือเพื่อเปรียบเทียบระหว่างโครงการต่าง ๆ ว่าควรจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไรเมื่อทรัพยากรและงบประมาณของรัฐมีจำกัด โดยรายละเอียดขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ ดังแสดงในรูปที่ 3

รูปที่ 3 ขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ

3. การศึกษาด้านการจราจรและขนส่ง

เป็นการรวบรวมข้อมูลการพัฒนาโครงข่ายด้านการจราจรขนส่งในพื้นที่ศึกษา และรวบรวม ทบทวนและวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการสำรวจข้อมูลด้านจราจรและการขนส่ง เพื่อให้เข้าใจถึงสภาพการจราจรในปัจจุบัน และโครงข่ายถนนโดยรอบพื้นที่โครงการ และนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแบบจำลองด้านการจราจรและขนส่ง ตลอดจนใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์สภาพการจราจร เพื่อกำหนดรูปแบบทางเลือกการพัฒนาโครงการ โดยขั้นตอนการศึกษาด้านการจราจรและขนส่ง ดังแสดงในรูปที่ 4

รูปที่ 4 ขั้นตอนการศึกษาด้านจราจรและขนส่ง

4. การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยจัดทำรายงานการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการทางหลวง (Guidelines for Preparation of Environmental Impact Statement of a Road Scheme) (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 8 เดือนกุมภาพันธ์ 2567) โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment : EIA) ดังแสดงในรูปที่ 5 โดยมีรายละเอียดดังนี้

รูปที่ 5 ขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

  • การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)
    การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จะประเมินผลกระทบให้ครอบคลุมองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบ คือ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต รวมทั้งหมด 37 ปัจจัย โดยใช้วิธีเมทริกซ์ (Matrix) เพื่อคัดกรองและสรุปประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญ และนำผลการศึกษาที่ได้จากขั้นตอนนี้ไปใช้ประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียดต่อไปในรูปที่ 6

รูปที่ 6 ขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environment Examination: IEE)

  • การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment: EIA)
    หลังจากการคัดกรองปัจจัยที่มีความสำคัญจากผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น จะเป็นการศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นในขั้นรายละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยวิเคราะห์จากสภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน แนวโน้มและการคาดการณ์ของผลกระทบในสภาพอนาคตของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายในขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงหรือทางอ้อมจากการการพัฒนาโครงการ เพื่อนำไปกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบ ตลอดจนนำไปสู่การจัดทำแผนงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งมาตรการส่งเสริม และแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ขั้นตอนการดำเนินงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแสดงในรูปที่ 7

รูปที่ 7 ขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment: EIA)

5. การมีส่วนร่วมของประชาชน

การดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นกระบวนการที่สำคัญในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้รับรู้ รับทราบข้อมูล ข่าวสาร คำชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นและได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในข้อวิตกกังวล ตลอดจนข้อเสนอแนะในสภาพปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่โครงการ โดยผ่านกระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป้าหมายของการประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน คือการสร้างความเข้าใจ ยอมรับ และยินดีที่จะมีส่วนร่วมในโครงการภาครัฐ ซึ่งแนวทางการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวทางการประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วมของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 214 อ.ท่าตูม – สุรินทร์ (บ.ตาฮะ – อ.ท่าตูม) ประกอบด้วยกิจกรรมดังนี้

  • การประชาสัมพันธ์โครงการ

การประชาสัมพันธ์เป็นการนำเสนอข้อมูลผ่านเว็บเพจของโครงการ การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์
เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบ เป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจ โดยการเผยแพร่ข้อมูลของโครงการที่ถูกต้องและชัดเจนให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ รวมไปถึงสาธารณชนในวงกว้าง ได้รับทราบรายละเอียดและขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษาของโครงการ