1. ความเป็นมาของโครงการ
กรมทางหลวงได้จัดทำแผนพัฒนาทางหลวง โดยกำหนดตามทิศทางของการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับมาตามลำดับงานที่ดำเนินการจะครอบคลุมถึงโครงการใหม่ ซึ่งเป็นงบลงทุนก่อสร้างและบูรณะทางหลวงทั่วประเทศ อาทิ งานก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง งานก่อสร้างเพิ่มมาตรฐานทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจรหรือมากกว่า งานบูรณะและปรับปรุงทางลาดยางเดิม งานก่อสร้างเป็นทางลาดยาง มาตรฐานงานก่อสร้างทางแนวใหม่ งานก่อสร้างทางแยกต่างระดับและสะพานลอย ตลอดจนงานอำนวยความปลอดภัย เป็นภารกิจหลักที่กรมทางหลวงมุ่งที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์ ในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานดังกล่าว กรมทางหลวงจะต้องจัดเตรียมโครงการให้เป็นไปตามแผนงาน โดยเฉพาะงานสำรวจและออกแบบ ซึ่งในปีงบประมาณนี้มีโครงการก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การเตรียมโครงการเป็นไปตามแผนงาน และเพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการของที่ปรึกษาไทยตามนโยบายรัฐบาลกรมทางหลวงจึงแบ่งงานส่วนหนึ่ง เพื่อว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาช่วยในการสำรวจและออกแบบ ซึ่งจะช่วยให้งานสำรวจและออกแบบเป็นไปตามแผนทันกับงานโครงการก่อสร้าง และงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะดำเนินการได้เมื่อมีแบบแล้ว
ทางหลวงหมายเลข 214 เป็นเส้นทางสายหลักในการเดินทาง จากจังหวัดร้อยเอ็ด ไปยังจังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันทางหลวงหมายเลข 214 อ.ท่าตูม – สุรินทร์ (บ.ตาฮะ – อ.ท่าตูม) มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดปัญหาการติดขัดของการจราจรโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เนื่องจากบริเวณสองข้างทางมีชุมชนหนาแน่น มีสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทั้งพื้นที่ธุรกิจ และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ทำให้เกิดความไม่สะดวก และความล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งทางหลวงสายนี้ยังมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ในการขยายถนน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจและออกแบบปรับปรุงแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 214 ช่วงดังกล่าว และโครงข่ายทางหลวงใกล้เคียงทำให้สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจุบันแนวเส้นทางมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ใช้ทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง อีกทั้งแนวเส้นทางของโครงการผ่านพื้นที่ที่มีโบราณสถาน ซึ่งเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 (ลำดับที่ 20 และ 33) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมข้างต้น ทั้งนี้เพื่อให้การพัฒนาโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ปัจจุบันภาคประชาชนภายในชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มองค์กรรูปแบบต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการแสดงออกถึงความต้องการที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการต่างๆ เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้โครงการพัฒนาหลายๆ โครงการไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงต่อไปได้โดยเฉพาะบางโครงการจะต้องเสียเวลาในการดำเนินงานหลายๆ ปี นับว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่การพัฒนาโครงการต่างๆ จำเป็นต้องเห็นถึงความสำคัญต่อการให้ข้อมูลหรือข่าวสารแก่ประชาชนหรือสาธารณชนตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มแรกของการพัฒนาโครงการเพื่อให้ทราบถึงผลดี-ผลเสียหรือความจำเป็นและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานโครงการต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนนับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนตามสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและสิทธิในการร่วมตัดสินใจและการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐและภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 58 และในการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจะดำเนินการให้สอดคล้องตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (2566) ทั้งนี้ ตามข้อกำหนด (TOR) จะดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548
อนึ่ง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือร่วมปรึกษาหารือกับผู้นำชุมชน นักพัฒนาท้องถิ่น ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้บริหาร หรือนักวิชาการจะทำให้ทราบถึงความต้องการและความคิดเห็นของชุมชนเพื่อนำมาปรับแก้แผนการดำเนินงานโครงการให้เหมาะสมและทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพซึ่งจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งและทำให้การพัฒนาโครงการสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง การให้ข้อมูลข่าวสารและทำความเข้าใจกับประชาชนภายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากประชาชนภายในท้องถิ่น องค์กรเอกชน หน่วยงานราชการท้องถิ่น นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมีความสำคัญเนื่องจากทัศนคติและความสนใจของแต่ละกลุ่มเป้าหมายจะแตกต่างกัน ดังนั้นการทำให้เกิดความเข้าใจอันดีแก่ทุกฝ่ายและการรับฟังข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อโครงการและส่งผลกระทบในทางลบน้อยที่สุด ดังนั้นในการพัฒนาโครงการจึงควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนควบคู่ไปกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอันเป็นผลให้การพัฒนาโครงการเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นมากที่สุด
2. วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1) เพื่อสำรวจและออกแบบรายละเอียด ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และจัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคา
2) เพื่อพัฒนาโครงการมีความสมบูรณ์ทางด้านวิศวกรรม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
3) เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ เสริมสร้างสัมพันธ์อันดีแก่ชุมชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
3. วัตถุประสงค์ของการประชุม
1) เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโครงการ ความเป็นมา วัตถุประสงค์ของการศึกษา ขอบเขตการศึกษา การตรวจสอบข้อจำกัดและเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ
2) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการศึกษาโครงการจากกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสภาพปัญหาต่างๆ ในพื้นที่
4. ขอบเขตการศึกษา
- 1) ด้านวิศวกรรม
- งานศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนา
- งานวิเคราะห์โครงการด้านเศรษฐศาสตร์
- งานสำรวจและคาดการณ์ปริมาณจราจร และวิเคราะห์ระดับการให้บริการ
- งานสำรวจแนวทางและระดับ
- งานสำรวจตรวจสอบดินและวัสดุ
- งานออกแบบรายละเอียดงานทาง
- งานออกแบบรายละเอียดทางแยก
- งานออกแบบโครงสร้างชั้นทาง งานฐานราก วิเคราะห์เสถียรภาพและกรทรุดตัวของคันทาง (ถ้ามี)
- งานออกแบบโครงสร้างสะพาน โครงสร้างทางแยกต่างระดับ อาคารระบายน้ำและโครงสร้างอื่นๆ (ถ้ามี)
- งานระบบระบายน้ำ
- งานระบบไฟฟ้า
- งานสถาปัตยกรรม
- งานดำเนินการทางด้านสิ่งสาธารณูปโภค
- งานคำนวณปริมาณงานก่อสร้างและประมาณราคา
- งานวิเคราะห์แผนการดำเนินการโครงการ
- งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน
- 2) ด้านเศรษฐกิจและสังคม
- งานศึกษา สำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่
- งานศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม
- 3) ด้านสิ่งแวดล้อม
- การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE)
- การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (Environmental Impact Assessment: EIA)
- 4) ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
- ประชาสัมพันธ์โครงการ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมตลอดระยะเวลาโครงการ
- การจัดประชุมเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
5. ระยะเวลาดำเนินงานโครงการ
ระยะเวลาดำเนินงานโครงการ 450 วัน หรือ 15 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ถึง วันที่ 17 กันยายน 2568
6. พื้นที่ศึกษาโครงการ
ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 214 อ.ท่าตูม – สุรินทร์ (บ.ตาฮะ – อ.ท่าตูม) มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 214 ประมาณ กม.137+200 และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่บนทางหลวงหมายเลข 214 ประมาณ กม.139+461 รวมสะพานข้ามแม่น้ำมูล มีระยะทางประมาณ 2.261 กิโลเมตร มีพื้นที่ศึกษาครอบคลุมระยะ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวถนนของโครงการ ครอบคลุมพื้นที่การปกครองทั้งหมด 2 ตำบล 1 อำเภอ 1 จังหวัด ประกอบด้วย ตำบลทุ่งกุลา และตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ดังแสดงในตารางที่ 1 และรูปที่ 1
ตารางที่ 1 พื้นที่ศึกษาโครงการ
จังหวัด | อำเภอ | ตำบล | หมู่บ้าน | องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น |
สุรินทร์ | ท่าตูม | ทุ่งกุลา | หมู่ที่ 10 บ้านเรียงพนม | องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกุลา |
ท่าตูม | หมูที่ 1 บ้านตูม | องค์การบริหารส่วนตำบลท่าตูม | ||
หมู่ที่ 10 บ้านบัลลังก์ | ||||
ชุมชนที่ 2 พงสวายสามัคคี | เทศบาลตำบลท่าตูม | |||
ชุมชนที่ 3 ศาลปู่ตาประชาร่วมใจ | ||||
1 จังหวัด | 1 อำเภอ | 2 ตำบล | 3 หมู่บ้าน 2 ชุมชน | 3 อปท. |
รูปที่ 1 ขอบเขตพื้นที่ศึกษาโครงการ

7. ลักษณะโครงการ
เป็นการทบทวนงานศึกษาความเหมาะสมฯ หรือทบทวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม (ถ้ามี)
และสำรวจออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 214 อ.ท่าตูม – สุรินทร์ (บ.ตาฮะ – อ.ท่าตูม) มีจุดเริ่มต้นโครงการบนทางหลวงหมายเลข 214 ประมาณ กม.137+200 และจุดสิ้นสุดบนทางหลวงหมายเลข 214 ประมาณ กม.139+461 รวมสะพานข้ามแม่น้ำมูล มีระยะทางประมาณ 2.261 กิโลเมตร ให้มีขนาด 4 ช่องจราจรหรือมากกว่า โดยให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ โครงข่ายทางหลวง และปริมาณการจราจรในอนาคตพร้อมระบบระบายน้ำ สาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องและส่วนประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ทางด้านการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งให้คำนึงถึงความปลอดภัยลดผลกระทบต่อชุมชน และสภาพแวดล้อมในแนวสายทาง